การพัฒนาแนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านป่าลาน โดยใช้หลักการการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

บทคัดย่อ

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัญหา และแนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านป่าลาน 2) เพื่อพัฒนาแนวทางการดำเนินงานการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านป่าลาน 3) เพื่อศึกษาผลการติดตาม และประเมินผลการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านป่าลาน  โดยมีกลุ่มตัวอย่างในการศึกษา คือ ครูระดับมัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนบ้านป่าลาน จำนวน 15 คน นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนบ้านป่าลาน จำนวน 31 คน ปีการศึกษา 2564  โดยงานวิจัยนี้ใช้เครื่องมือในการวิจัย ประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ (Focus Group) สัมภาษณ์ผู้บริหาร ครูผู้สอน นักเรียน ภาคีเครือข่ายทางการศึกษา (มหาวิทยาลัยเป็นผู้ชี้แนะให้คำแนะนำ (Coaching & Mentoring)) บุคลากรจากหน่วยงานต้นสังกัด และแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนใช้สอบถามครู และนักเรียน แบบตรวจสอบรายการภาระงาน และผลงานของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลสถิติที่ใช้ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

ผลการศึกษาพบว่า 1) ปัญหา และแนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนบ้านป่าลาน คือ ปัญหาด้านการเรียนรู้ของนักเรียนได้แก่ นักเรียนขาดความกระตือรือร้นและขาดแรงจูงใจ ในการเรียนส่วนปัญหาด้านวิธีการเรียนการสอนของครู ได้แก่ ครูขาดทักษะ  เทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมทันสมัย แนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษา 3 แนวทาง คือ (1) แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน  โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้หน่วยการเรียนรู้บูรณาการสะเต็มศึกษา  (2) แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ยกระดับคุณภาพการสอนของครูโดยใช้กระบวนการเรียนการสอนแบบทีม (Team teaching) (3)  แนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนบ้านป่าลานด้วยการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC)   2) การดำเนินงานการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านป่าลาน ได้ดำเนินการจัดการเรียนรู้ด้วยบทเรียนบูรณาการสะเต็มศึกษา  ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เรื่อง รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รอบรั้วป่าลาน  เกษตรวิถีชีวิตชุมชนและวัยใสใส่ใจสุขภาพ  การจัดกิจกรรมร่วมกันให้กำลังใจกัน ส่งผลให้ครูเกิดความมั่นใจในการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การออกแบบ และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยกระบวนการสอนแบบทีม โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนให้ความสนใจ สนุก และมีความสุขกับการเรียนรู้ สะท้อนผลได้จากผลความพึงพอใจในการจัดการ เรียนรู้ของนักเรียน และความสนใจอยากให้มีการจัดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบหน่วยบูรณาการสะเต็มศึกษา  เพิ่มขึ้น การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ  (Professional Learning Community: PLC)   ทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้ครูมีเทคนิคการสอนแบบใหม่แก้ปัญหา และพัฒนาการจัดการเรียนรู้ได้ 3) ผลการติดตามและประเมินผลการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านป่าลาน ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนและครูต่อแนวทางการดำเนินงานการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านป่าลาน มากที่สุด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *